เมื่อเราจดทะเบียนบริษัทเริ่มธุรกิจเป็นที่เรียบร้อย ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงสินค้าและบริการที่เราใช้และเห็นอยู่เป็นประจำส่วนใหญ่จะมี “เครื่องหมายการค้า” เป็นของตัวเองที่มีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของว่าสิ่งๆ นี้ ใช้เครื่องหมายนี้และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ซึ่งการจดไว้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้คนอื่นนำชื่อนี้ไปใช้กับสินค้าประเภทอื่นหรือนำไปใช้กับสินค้าของคนอื่นนั่นเอง
เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คืออะไร ?
แบบเข้าใจง่ายและคนทั่วไปนิยมเรียกกันคือ “ยี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” หรือ “ตรา” นั่นเอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการต่าง ๆ ยี่ห้อที่เราเห็นกันแต่ละอย่างนั่นแหละคือ 1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)ที่ธุรกิจนั้นๆจดทะเบียนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่นเครื่องหมายการชื่อดังเกี่ยวกับสินค้าประเภทมือถือก็จะมียี่ห้อ Oppo Samsung เป็นต้น หรือถ้าเป็นน้ำอัดลมดัง ๆ ก็จะมี Coke Pepsi Fanta เป็นต้น หากเป็นร้านกาแฟก็จะมี Starbucks Amazon เป็นต้น สิ่งที่เราเห็นเป็นยี่ห้อนั่นเองคือเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 มี 4 ประเภท
ก่อนจะทำเรื่องยื่นขอจดทะเบียนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าในแต่ละประเภทก่อน เพราะว่าขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่เราทำด้วยว่าเป็นแบบไหน บางเครื่องหมายการค้าก็ไม่ได้แสดงแค่ชื่อแบรนด์หรือตราเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์บอกถึงอะไรบางอย่างเป็นการการันตีได้ด้วย ใน 4 ประเภทของเครื่องหมายการค้ามีดังนี้
1. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)
เป็นเครื่องหมายแสดงความเกี่ยวข้องกับสินค้าที่บอกได้ว่า ยี่ห้อนี้แตกต่างจากยี่ห้ออื่นเครื่องหมายการค้าของคนอื่น บอกถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้านั้น ๆ ได้ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ยำยำ กับ มาม่า แม้จะเป็นบะหมี่เหมือนกันแต่ก็คนละอย่างกัน ไม่เหมือนกันหลายอย่าง
2. เครื่องหมายบริการ (Service Mark )
จะเป็นเครื่องหมายสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม สายการบิน ธนาคาร เป็นต้น ยกตัวอย่างสายการบินนกแอร์ กับ การบินไทย เครื่องหมายการค้าก็จะบอกถึงลักษณะของแต่ละแบรนด์ได้ แม้จะประกอบธุรกิจเดียวกันแต่ก็คนแบรนด์ และบอกได้ว่าบริการของแต่ละที่นั้นแตกต่างกันไม่เหมือนกับของสายการบินอื่น
3. เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark)
สำหรับเครื่องหมายนี้จะเป็นเหมือนตัวที่ช่วยยืนยัน การันตีคุณภาพของสินค้าหรือบริการ เช่น เครื่องหมายเซลล์ชวนชิม เครื่องหมาย ฮาลาล (Halal) เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น อาหาร ขนม ของทานได้ต่าง ๆ ที่มีเครื่องหมายฮาลาลอยู่แปลว่าอาหารนั้น ๆ ไม่มีส่วนผสมที่ทำมาจากหมู คนมุสลิมทานได้แบบสบายใจเลย
4. เครื่องหมายร่วม (Collective Mark)
ตัวนี้จะเป็นเครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกันหรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มคน หรือองค์กรอื่นใด ทั้งรัฐและเอกชน ยกตัวอย่างเช่น ตราช้าง ก็เป็นเครื่องหมายร่วมของปูนซีเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น
จำเป็นไหมที่แบรนด์จะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ?
หากต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและหวังจะเติบโตไปในภายภาคหน้าเรื่อย ๆ ก็จำเป็นจะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพราะว่าอย่างน้อยก็ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด มันมีข้อดีกว่าการไม่จดอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการนั้นจดจำสินค้าหรือบริการของเราได้ภายใต้เครื่องหมายการค้านั่นเอง การจดทะเบียนนั้นมีดีดังนี้
- สร้างภาพลักษณ์ให้สินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้น
- ทำให้ผู้บริโภค (ลูกค้า) จดจำแบรนด์ได้ เวลาทำสื่อโฆษณาลูกค้าเห็นแล้วจะรู้สึกจำได้ คุ้นเคย คุ้นชิน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือและกล้าที่จะซื้อสินค้าหรือใช้บริการของแบรนด์เรา
- เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าสินค้าที่จดทะเบียนภายใต้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างจากของคนอื่นอย่างชัดเจน
- ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม
- ทำให้เจ้าของที่จดทะเบียนแล้วมีอำนาจและสิทธิเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของจะแอบอ้างนำไปใช้ ละเมิดสิทธิ์ อาศัยสิทธิไม่ได้เด็ดขาย ป้องกันไม่ให้นำเครื่องหมายการค้าไปใช้กับสินค้าประเภทอื่น
หากไม่จดทะเบียนการค้าก็ไม่ได้ผิดอะไรเพียงแต่ว่า หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่คิดค้นออกแบบเครื่องหมายการค้าของแบรนด์มาแล้ว ดันมีคนอื่นนำเครื่องหมายนี้ไปใช้แล้วจดทะเบียนก่อนคุณ สิทธิจะตกเป็นของคนอื่นทันทีแม้ว่าคุณจะเป็นคนริเริ่มก็ตาม
การไม่จดทะเบียนแปลว่าใครก็เอาเครื่องหมายการค้านั้นไปใช้ได้ เพราะในทางกฎหมายแล้วก็จะไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียวนั่นเอง ฉะนั้นแล้วหากคุณจะสร้างแบรนด์สินค้าหรือบริการอะไรขึ้นมาก็จะทะเบียนจะดีกว่าจะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง
หากมีการละเมิดใช้เครื่องหมายการค้าจะเป็นอย่างไร ?
หากเครื่องหมายการค้าถูกแอบอ้างแสดงความเป็นเจ้าของในสินค้าประเภทอื่น ที่ผู้คิดค้นไม่ได้ประกอบธุรกิจประเภทนั้น เจ้าของเครื่องหมายแม้ไม่ได้จดทะเบียนไว้ก็ฟ้องได้ โดยเป็นการฟ้องฐานละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และฟ้องฐานลวงขาย
มีสิทธิที่จะคัดค้าน เพิกถอน โดยจะต้องแสดงหลักฐานความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงด้วย และดำเนินการคัดค้านหรือเพิกถอนการจดทะเบียนได้ ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และยังไม่หมดเท่านี้ยังฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 – 274 ด้านความผิดเกี่ยวกับการค้า แต่ว่าการฟ้องนี้ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากแถมยังใช้เวลายาวนานกว่าเรื่องจะจบอีกด้วย
สำหรับกรณีที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วแต่ถูกละเมิดจะต้องร้องทุกข์ไปยังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและตำรวจ โดยจะต้องมีหลักฐานในการร้องทุกข์ด้วย นั่นก็คือ
- ทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือจะเป็นหนังสือรับรองรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่นายทะเบียนรับรองความถูกต้อง (ต้นฉบับ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
- จะต้องมีหนังสือรับรองนิติบุคคล สำหรับกรณีที่เป็นเจ้าของเครื่องหมายเป็นนิติบุคคล
- หากเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ (ต้นฉบับ) หากใช้สำเนาจะต้องมีการรับรองความถูกต้องตามวิธีที่กฎหมายของประเทศกำหนด แล้วให้สถานเอกอักคราชทูตไทยหรือกงสุลไทยรับรองด้วยอีกชั้น
- หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ราชอาณาจักรต้องนำเอาทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนต้นฉบับมาแสดงด้วย
- จะต้องนำตัวอย่างสินค้าทั้งของจริง และสินค้าของปลอมมาแสดงตอนยื่นร้องทุกข์ด้วย
- หากมีหลักฐานอย่างอื่นประกอบให้นำมาด้วยเสมอ เช่น การโฆษณาสินค้าเลียนแบบ สำเนาใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ
หลังจากยื่นร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่แล้ว รอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ว่าจะจัดการอย่างไรต่อไปและบางกรณีอาจจะต้องได้ไปคุยกันในชั้นศาลเพื่อหาข้อเท็จจริงว่าใครจะถูกหรือผิด
หากเราเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจริงๆ และอีกฝั่งมีความผิดจริงยังไงก็มีโอกาสชนะและได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือสามารถเพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนของอีกฝั่งได้ เพื่อให้สินค้ายังมีคุณภาพภายใต้เครื่องหมายการค้าเดิม ซึ่งโทษนั้นจะค่อนข้างหลักเหมือนกันสำหรับการละเมิดหรือปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า ตามกฎหมาย พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 108 ระบุเอาไว้ว่าบุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้าทั้งหมดตามที่กฎหมายกำหนดทั้ง เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การปลอมแปลงเราจะได้ยินกันบ่อยในข่าวที่มีคนถูกจับเพราะขายสินค้าปลอม นั่นคือการปลอมเครื่องหมายการค้าแล้วหลอกขายนั่นเอง ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากแต่ภาพลักษณ์ของแบรนด์จริง
ทั้งนี้ตามมาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า ทั้ง 4 ประเภทเลยที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของจริง บุคคลอื่นนั้นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลย ก็ไม่ต่างการข้อข้างบนเท่าไหร่ แต่ว่าข้อนี้อาจจะเรียกว่าทำออกมาใหม่แต่ว่าคล้ายของต้นฉบับแบบเนียนๆ หากไม่ดูให้ดีก็แทบแยกไม่ออกเลยว่าเป็นของเลียนแบบ
อีกมาตรา 109/1 ได้ระบุเอาไว้ว่าบุคคลใดนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้า ทั้ง 4 ประเภทของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนแล้วมาใช้ในสินค้าตัวเองหรือคนอื่นเพื่อให้ลูกค้าหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ว่าได้รับอนุญาตให้ใช้แล้ว จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับข้อนี้เหมือนกับว่าจงใจทำเหมือนสินค้าของตนเองนั้นอยู่ภายใต้แบรนด์อื่นที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่จริง ๆ ไม่ใช่แค่แอบเอาตรามาใช้เท่านั้นเองเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจผิด
บทสรุป
โทษของการละเมิดเครื่องหมายการค้าก็มิใช่จะเบาเลย แต่ปัจจุบันก็ยังมีการปลอมแปลง ละเมิดกันให้เห็น ทางที่ดีเจ้าของแบรนด์จะต้องจดทะเบียนเอาไว้เวลาฟ้องจะได้ง่ายขึ้น หากไม่จดมันยากที่จะเรียกร้องเพราะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและยี่ห้อยังเป็นตัวที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ ลูกค้ากล้าที่จะซื้อสินค้าและบริการมากกว่าแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก พอเรามียี่ห้อแล้วจะทำสื่อโฆษณาช่องทางไหนก็สะดวกมากขึ้น📌Station Accout – เรารับจดทะเบียนบริษัทดีที่สุด™