e-Withholding Tax คืออะไร เรื่องยากจะกลายเป็นง่าย

e-Withholding Tax

ในเรื่องการชำระภาษีในรูปแบบที่แตกต่างกันล้วนเป็นหน้าของพลเมืองทุกคน บางคนก็เสียมากบางคนก็เสียน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้ที่ได้รับต่อปี การยื่นเสียภาษีทั้งในรูปแบบของนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา คงจะมีปัญหาเรื่องเอกสารอ้างอิงการเสียภาษีที่เป็นแผ่นกระดาษอยู่ไม่น้อย รวมไปถึงความไม่สะดวกที่จะเดินทางไปยื่นเอกสารบางอย่างเพื่อแสดงต่อกรมสรรพากร จึงทำให้เกิดกระบวนการยื่นเอกสารเสียภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้เสียภาษี และเพื่อตอบสนองนโยบายการให้บริการแบบ New Normal ไปในตัว ซึ่งระบบที่เราจะมาพูดถึงกันในโอกาสนี้เรียกว่า e-Withholding Tax ซึ่งจะมีบทบาทต่อการยื่นเสียภาษีของคุณอย่างไรนั้น เรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว

สารบัญ
    Add a header to begin generating the table of contents

    e-Withholding Tax คืออะไร

    ระบบ e-Withholding Tax เป็นรูปแบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมสรรพากรจัดทำขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะง่ายขึ้นมาก โดยไม่ต้องยุ่งยากจัดการเรื่องเอกสารอ้างอิงที่ต้องแสดงต่อสรรพากรในช่วงเวลาที่ต้องยื่นเสียภาษี ระบบการทำงานนี้จะมีธนาคารผู้รับทำรายการเป็นตัวกลาง ทั้งการโอนเงิน ส่งเอกสารแจ้ง หักภาษี และการส่งภาษีที่หักไว้แล้วให้แก่กรมสรรพากร ธนาคารจะเป็นตัวกลางคอยทำหน้าที่แทนคุณทั้งหมด

    ธนาคารจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ และโอนเงินไปยังผู้รับพร้อมกับการแจ้งข้อมูลหักภาษีของเงินจำนวนนั้นไปกับการโอนเงินแต่ละครั้ง หลังจากที่ทำรายการจบแล้วธนาคารจะเป็นผู้นำส่งภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปยังกรมสรรพากรแทนผู้จ่ายเงินภายในเวลา 4 วัน  ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่สั่งจ่ายเงินจะสามารถเข้าไปตรวจสอบการหักภาษีได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) โดยเข้าไปตรวจสอบข้อมูลหากหักภาษีได้หลังจากทำรายการไปแล้ว 4 วัน

    จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอทำให้ทราบว่าการใช้งานระบบ e-Withholding Tax จะต่างจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบเดิมตรงที่การมีธนาคารเข้ามาเป็นสื่อกลาง ซึ่งทั้งผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และกรมสรรพากรจะได้รับประโยชน์ด้านการชำระภาษีโดยตรง ทำให้ปัญหาในการรวบรวมเอกสารภาษีน้อยลงไปด้วย กระบวนการเสียภาษีที่ดูยุ่งยากก็จะง่ายขึ้นทันที

    ปัญหาที่มักจะพบในการหักภาษี ณ ที่จ่ายรูปแบบเดิม

    ผู้จ่ายเงินต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้รับเงินด้วยตัวเอง ซึ่งต้องทำทุกครั้งเมื่อมีการสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงิน เพื่อเป็นการลดภาระค่าจ่ายภาษีปลายปี

    – ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เอง เมื่อถึงเวลาตรวจสอบข้อมูลภาษี บางครั้งอาจมีเอกสารบางรายการตกหล่น ทำให้เสียเวลารวบรวมเอกสารใหม่เพื่อยื่นตรวจสอบอีกครั้ง

    – ผู้จ่ายเงินต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแก่กรมสรรพากรทุกเดือน และต้องทำเอกสารแบบแสดงรายการภาษีด้วยตัวเอง

    – ผู้รับเงินไม่สามารถตรวจสอบความครบถ้วนของภาษีที่โดนหักไปได้ตลอดเวลา

    ระบบ e-Withholding Tax ได้เปรียบการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบเดิมอย่างไร

    – การหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยผ่านระบบธนาคารจะช่วยจ่ายเงินและออกหนังสือรับรองการหักภาษีแทนผู้จ่ายเงิน ซึ่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบใช้แผ่นกระดาษจะเปลี่ยนเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทน 

    – ผู้ทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ต้องรวบรวมหนังสือรับรอง (ตามมาตรา 50 ทวิ) เอกสารแบบแสดงรายการ และการนำส่งภาษีที่หักไว้แล้วด้วยตัวเอง ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ธนาคารผู้ให้บริการจะคอยรับผิดชอบแทนคุณ รวมถึงการส่งเอกสารรายเดือนและรายปี ทุกขั้นตอนของระบบการหักภาษี ณ ที่จ่ายรูปแบบเดิมจะลดทอนให้เหลือเพียงแค่ขั้นตอนเดียวเท่านั้น ถือว่าจบเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องส่งงานหลายต่อ

    – หลักฐานเกี่ยวกับการหักภาษีบนระบบอิเล็กทรอนิกส์จะถูกจัดเก็บอย่างความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการชำรุดหรือสูญหายได้ง่ายเหมือนกับหลักฐานที่เป็นแผ่นกระดาษ สามารถเข้าไปตรวจสอบหลักฐานการหักภาษีเหล่านี้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ตลอดเวลา 

    – ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินสามารถเข้าไป Download เอกสารการหักภาษีในระบบ e-WHT มาเก็บไว้ได้ และยังช่วยให้องค์กรของคุณประหยัดต้นทุนกระดาษและหมึก ที่ต้องนำมาใช้พิมพ์เอกสารจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อนำไปยื่นต่อกรมสรรพากรอีกด้วย

    – การหักภาษี ณ ที่จ่ายบนระบบ e-Withholding Tax จะเป็นผลดีในแง่ของความโปร่งใสของการแสดงข้อมูลภาษีต่อกรมสรรพากร ป้องกันการตกหล่นขณะรวบรวมเอกสาร และยังครบถ้วนเมื่อถึงเวลาที่ต้องนำหลักฐานไปแสดง

    – หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ทำรายการโดยธนาคาร ถือว่าเป็นเอกสารที่มีความสมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือ จึงสามารถนำไปใช้อ้างอิงการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

    ธนาคารที่รองรับการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax

    1. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
    2. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
    3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
    4. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    5. ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพ
    6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
    7. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    8. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
    9. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 

    ค่าธรรมเนียมการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax

    ธนาคารที่ให้บริการระบบ e-Withholding Tax จะมีอัตราค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน โดยค่าธรรมเนียมต่อ 1 รายการอาจจะมีตั้งแต่ 1-10 บาท ขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของแต่ละธนาคาร ดังนั้น ก่อนที่คุณจะสมัครใช้บริการระบบ e-WHT จึงต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมที่พึงพอใจเสียก่อน เพราะบางธนาคารก็จะมีอัตราค่าธรรมเนียมให้เลือกทั้งแบบที่คิดตามจำนวนครั้งการทำรายการในแต่ละเดือน หรือแบบที่คิดเหมารวมทั้งเดือนโดยไม่นับจำนวนครั้งที่ทำรายการ ควรพิจารณาดูว่าค่าธรรมเนียมแบบไหนจ่ายไปแล้วจะคุ้มค่ากับการใช้งานของคุณมากที่สุด

    E-Withholding Tax กับข้อดีที่คุณต้องรู้

    1. มีความสะดวกสบายในการเช็คข้อมูลหัก ณ ที่จ่าย
    2. ขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อนำจ่ายเงินหัก ณ ที่จ่ายง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก ทั้งหมดทำได้โดยธนาคารเป็นผู้ดำเนินการแทน
    3. ผู้ใช้บริการเชื่อมั่นใจความสุจริตได้ เพราะสามารถตรวจสอบหลักฐานได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร แบบไม่จำกัดช่วงเวลา เข้าดุได้ตลอด 24 ชั่วโมงและไม่จำเป็นต้งเก็บเอกสารแบบกระดาษให้ยุ่งยาก
    4. ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือหัก ณ ที่จ่ายแบบกระดาษอีกต่อไป ช่วยประหยัดงบส่วนนี้ได้

    ขั้นตอนดำเนินการระบบ e-Withholding Tax

    – ผู้ประกอบการสมัครขอใช้บริการระบบ e-Withholding Tax กับธนาคารสาขาที่คุณสะดวกใช้บริการ

    – เมื่อต้องสั่งจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน ผู้จ่ายเงินต้องแจ้งรายการและจำนวนเงินที่ต้องโอน พร้อมกับตัวเลขซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแก่ธนาคารที่คุณใช้บริการ 

    – เมื่อแจ้งรายการที่ต้องโอนให้ธนาคารแล้ว ทางธนาคารก็จะดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย แล้วทำการโอนเงินให้ผู้รับเงินตามที่คุณแจ้งไป โดยขั้นตอนนี้จะมีการออกหนังสือรับรองการหักภาษีและแจ้งการโอนแก่ผู้รับเงินให้เสร็จสรรพ

    – ทางธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหักภาษีและนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรแทนคุณเอง ซึ่งคุณสามารถตรวจสอบหลักฐานการหักภาษีได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร

    ระบบ e-Withholding Tax ใช้งานได้กับกรณีไหนบ้าง

    – ใช้เพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินให้ผู้รับที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ อ้างอิงตามมาตรา 52, มาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ

    – ใช้เพื่อจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ อ้างอิงตามมาตรา 83/5 และมาตรา 83/6

    บทสรุป

    ระบบ e-Withholding Tax เป็นเครื่องมือใหม่ที่กรมสรรพากรออกแบบมา เพื่อให้กระบวนการเสียภาษีโดยรวมของพลเมืองในประเทศไทยเป็นเรื่องง่าย จะช่วยลดทอนขั้นตอนการยื่นเอกสารที่ยุ่งยากออกไป ซึ่งระบบนี้เป็นมาตรฐานสากลที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้คุณจะใช้งานระบบ e-WHT ได้อย่างสมบูรณ์หากใช้งานร่วมกับ e-Filing และ e-Tax โดยจุดเด่นของการใช้งานระบบ e-WHT ที่ดึงเอาระบบธนาคารมาเป็นตัวกลาง ช่วยอำนวยสะดวกแก่การหักภาษี ณ ที่จ่าย ถือว่าเป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ได้ดีทีเดียว เพราะไม่ต้องเดินทางไปถึงกรมสรรพากรก็สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีจากที่บ้านหรือสำนักงานตัวเองได้เหมือนกัน📌Station Accout – เรารับทำบัญชีมาตรฐานสูงสุด™

    สำนักงานบัญชีคุณภาพ