ตั๋วสัญญาการใช้เงิน หมายถึงอะไร มีข้อดีอย่างไร

ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

การดำเนินกิจกรรมใดๆ ให้เป็นไปด้วยความสะดวกและมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยดี โดยที่บุคลากรกลุ่มต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆ ร่วมกันได้อย่างเป็นเอกเทศ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญย่อมหนีไม่พ้นการอาศัยเครื่องมือบางอย่างหรือหลายๆ อย่างเข้ามาช่วย ซึ่งในระบบการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ตัวเลขการรับหรือการจ่ายเงินของกลุ่มองค์กรต่างๆ ก็ต้องอาศัยเครื่องมือมาช่วยเพื่อดำเนินกิจการของตนให้ราบรื่นเช่นกัน โดยเครื่องมือกลุ่มหนึ่งที่จะพูดถึงต่อไปนี้ คือ ตั๋วเงิน โดยตั๋วเงินเป็นเอกสารเครดิตที่ใช้แทนเงินสดในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งตั๋วเงินที่มีการพูดถึงอยู่หลักๆ มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ตั๋วสัญญาการใช้เงิน (Promissory Note) และเช็ค (Cheque) โดยในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะ “ตั๋วสัญญาการใช้เงิน” เท่านั้น

สารบัญ
    Add a header to begin generating the table of contents

    ความหมายของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

    ตั๋วสัญญาการใช้เงิน เป็นตราสารหรือเอกสารประเภทหนึ่งในกลุ่มของตั๋วเงิน ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเงินในระบบธุรกิจ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน เป็นเอกสารทางการเงินที่มีผู้เกี่ยวข้องเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น คือ ผู้ออกตั๋ว และผู้รับเงิน

    จุดประสงค์ของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

    การจัดทำ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ขึ้นมานั้น เพื่อเป็นเอกสารที่เอาไว้ใช้แสดงเจตจำนงของผู้ออกตั๋ว (ผู้เป็นลูกหนี้) ที่ให้คำมั่นสัญญาต่อผู้รับเงิน (ผู้เป็นเจ้าหนี้) ว่าจะนำเงินมาใช้ให้แก่ผู้รับเงิน โดยในเอกสารจะต้องระบุจำนวนเงินเป็นตัวเลขที่ชัดเจน อีกทั้งมีกำหนดเวลาที่จะเริ่มใช้เงินและระยะสิ้นสุดของการใช้เงินชัดเจน นอกจากนี้ยังมี ตั๋วสัญญาการใช้เงิน อีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามความต้องการ โดยตั๋วสัญญาประเภทนี้จะไม่มีกำหนดถึงวันสิ้นสุดการชำระเงินไว้ในตั๋วสัญญากู้เงิน แต่จะขึ้นอยู่กับผู้ออกกู้ว่าจะเรียกเก็บเอาเงินเมื่อไหร่

    องค์ประกอบของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

    ในตั๋วสัญญาการใช้เงินที่ถือว่าเป็นเอกสารอันถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ในระบบธุรกิจใดๆ ได้ จะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ในเอกสาร คือ

    1. คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
    2. คำมั่นสัญญาโดยปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
    3. วันถึงกำหนดใช้เงิน
    4. สถานที่ใช้เงิน
    5. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
    6. วันและสถานที่ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
    7. ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

    ความแตกต่างระหว่างตั๋วสัญญาการใช้เงินกับตั๋วแลกเงิน

    ตั๋วสัญญาการใช้เงิน จะมีความคล้ายคลึงกับตั๋วแลกเงิน ซึ่งจุดสังเกตสำคัญของตั๋วทั้ง 2 ประเภท จะพิจารณาได้จากจำนวนผู้เกี่ยวข้องและคำเรียกผู้เกี่ยวข้องกับเอกสารฉบับนั้น ดังนี้

    ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

    1. เป็นตั๋วที่แสดงคำมั่นสัญญาว่าลูกหนี้จะใช้เงิน
    2. มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตั๋วเพียงแค่ 2 ฝ่าย คือผู้ออกตั๋ว และผู้รับเงิน
    3. ลูกหนี้เป็นฝ่ายออกตั๋วให้กับเจ้าหนี้
    4. ไม่จำเป็นต้องมีการรับรองตั๋ว เพราะผู้จ่ายเงินเป็นผู้ออกตั๋ว

    ตั๋วแลกเงิน

      1. เป็นตั๋วที่มีคำสั่งให้ใช้เงิน
      2. มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตั๋วนี้ถึง 3 ฝ่าย คือ ผู้สั่งจ่าย ผู้จ่าย และผู้รับเงิน
      3. เจ้าหนี้เป็นผู้ออกตั๋ว และลูกหนี้เป็นผู้รับรองตั๋วนั้น
      4. ผู้จ่ายเงินต้องลงชื่อรับรองการจ่ายเงินเสียก่อนจึงจะถือว่าตั๋วแลกเงินนั้นสมบูรณ์

    ตัวอย่างของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ในปัจจุบัน

    ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ในภาคปัจจุบันจะเห็นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มาจากธนาคาร เมื่อเข้าไปสำรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารก็จะมี ตั๋วสัญญาการใช้เงิน เป็นตัวเลือกหนึ่งทางการเงินให้กับลูกค้า เงื่อนไขหลักที่แต่ละธนาคารจะนำเสนอคล้ายๆ กันคือ การเป็นตัวช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหมุนเวียนธุรกิจ ธนาคารจะจ่ายเงินให้มากน้อยอย่างไรมาจากการอ้างอิงที่ความเสี่ยงของลูกค้า (พิจารณาความจำเป็นในการใช้เงิน) ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีเงื่อนไขอื่นๆ มาช่วยประกอบการตัดสินใจของลูกค้า โดยลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังกล่าวจะมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ชัดเจน จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกัน แต่อายุสัญญาจะมีระยะสั้นๆ เพียง 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีเท่านั้น 

    ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ทางกลุ่มธนาคารเรียกว่า การบริการสินเชื่อ โดยประโยชน์ที่ทางธนาคารได้รับจะปรากฎในรูปแบบของดอกเบี้ยที่ทางผู้ออกตั๋ว (ผู้ขอใช้บริการสินเชื่อกับทางธนาคาร) ได้ทำสัญญาไว้กับผู้รับเงินหรือธนาคารนั่นเอง แต่ทางธนาคารผู้เป็นของเงินจะมีอำนาจปรับอัตราดอกเบี้ยได้ในกรณีต่างๆ โดยอิง อัตราดอกเบี้ยตามธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย พูดอีกนัยหนึ่งคือธนาคารสามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ในสัญญาได้ และในขณะเดียวกันผู้ออกตั๋ว (ผู้ขอกู้สินเชื่อ) ไม่สามารถเปลี่ยนไปให้บุคคลอื่นได้

    ซึ่งนอกเหนือจากรูปแบบ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ที่ได้ยกตัวอย่างไปก่อนหน้านี้แล้ว ตั๋วสัญญาการใช้เงินยังถูกนำไปใช้ในวงธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย โดยจะยกมาไว้เพียงสังเขปเพื่อช่วยเสริมความเข้าใจแก่ผู้อ่านให้เปิดกว้างมากขึ้น ดังนี้

    1. การกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนของบริษัทเงินทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เช่น ประชาชนกู้ยืมเงินของบริษัทเงินทุน โดยมีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกันเงินกู้ และผู้กู้ยืมจะเขียนตั๋วสัญญาใช้เงินให้บริษัทยึดถือไว้
    2. การกู้ยืมเงินในหมู่พ่อค้าหรือนักธุรกิจทั่วไปหรือธนาคาร โดยที่ผู้กู้เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามจำนวนเงินที่กู้ทั้งอัตราดอกเบี้ยมอบให้ผู้ให้ได้ยึดถือไว้แทนสัญญากู้
    3. การเช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจเช่าชื้อ โดยเฉพาะผู้ให้เช่าซื้อจะเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารและขอสินเชื่อจากธนาคารนั้นโดยขอกู้เงินจำนวนหนึ่งจากธนาคารโดยมีสัญญาเช่าซื้อขอลูกค้าเช่าซื้อมาแสดง พร้อมทั้งออกตั๋วสัญญาใช้เงินขายลดให้แก่ธนาคารยึดถือไว้
    4. การขายสินค้าเชื่อ โดยที่ผู้ซื้อสินค้าเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามมูลค่าของสินค้าเชื่อนั้นให้แก่ผู้ขายสินค้า
    5. การชำระพรีเมี่ยมในการขออนุญาตส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยผู้ขออนุญาตฯ ได้สินเชื่อจากธนาคารและขอให้ธนาคารออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดชำระเงินภายในระยะเวลาหนึ่งให้แก่กระทรวงเศรษฐกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย 
    6. การรับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการส่งสินค้าออกหรือเนื่องจากการซื้อวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรม

    (อ้างอิง เฉลิม ยงบุญเกิด, ตั๋วสัญญาใช้เงิน พิมพ์ครั้งที่ 2 (ธนบุรี : โรงพิมพ์ไทยเทอดธรรม, 2513) หน้า 5

    ประโยชน์ของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน

    ในการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมทางการเงินอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีความเสี่ยงว่าจะไม่มีการใช้เงินแก่ผู้รับเงิน เนื่องจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่รับออกไปมีมูลค่าสูง ผู้ออกตั๋วจึงต้องทำตั๋วสัญญาใช้เงินขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้รับเงินว่าจะได้รับเงินตรงเวลา เนื่องจาก ตั๋วสัญญาการใช้เงิน เป็นเอกสารที่ระบุจำนวนเงินที่เป็นหนี้ ระยะเวลาชำระเงินที่แน่นอน เมื่อถึงวันครบกำหนดผู้รับเงินจะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในตั๋ว และในกรณีที่ผู้ออกตั๋ว (ผู้ที่ต้องชำระหนี้) ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเมื่อถึงวันครบกำหนดการชำระหนี้ ก็สามารถใช้ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ที่ทำไว้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องเพื่อบังคับคดีได้

    บทสรุป

    จากที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วนั้นพอจะสรุปใจความสำคัญของ ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ได้ว่า เป็นเอกสารทางการเงินอย่างหนึ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการกู้เงินและชำระหนี้ระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งกิจกรรมนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องไม่ขัดต่อระบบกฎหมาย ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยที่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าได้สัมผัสและเกี่ยวข้องเครื่องมือทางการเงินนี้อยู่เป็นประจำ อย่างเช่นการใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมายในปัจจุบัน และจุดประสงค์ข้อใหญ่ที่เราจำเป็นต้องมี ตั๋วสัญญาการใช้เงิน ก็เนื่องมาจากการต้องสร้างความมั่นใจต่อตนเองและผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเงิน ว่าสามารถมั่นใจต่อการได้รับการชำระหนี้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้นั่นเอง📌Station Accout – เรารับทำบัญชีมาตรฐานสูงสุด™

    สำนักงานบัญชีคุณภาพ