การทำบัญชีจะเลี่ยงเรื่องของงบการเงินไม่ได้เลย มีงบการเงินหลายอย่างที่จะต้องเข้าใจแบบละเอียด โดยเฉพาะ “งบดุล” ที่แทบจะเป็นงบพื้นฐานของงบการเงินทั้งหมดเลย ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของบริษัท ผู้จัดการ หรือพนักงานบัญชีการเข้าใจงบการเงินจะเป็นตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ดีเลย เพราะว่างบเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่ากิจการนั้นเป็นแบบไหนซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาบริษัทได้อีกด้วย
รู้จักงบดุลแบบละเอียดคืออะไร
คนที่เรียนบัญชีมาแล้วไม่รู้จักงบดุล (Balance Sheet) คงจะผ่านออกมายากเลย เพราะว่าเป็นงบพื้นฐานของงบการเงินทั้งหมดเลย ซึ่งตัวงบดุลนี้เองที่เป็นตัวแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทหรือกิจการนั้น ๆ ณ วันใดวันหนึ่ง แสดงการใช้จ่ายเงินทุนของบริษัทเพื่อสรรหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ และยังมีสมการที่หลายคนต่างจำได้ขึ้นใจคือ
“สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของกิจการ (ทุน) หรือ กิจกรรมลงทุน = กิจกรรมจัดหาเงินทุน”
งบดุล (Balance Sheet) นั้นจะถูกแบ่งออกไปเป็น 2 ฝั่ง คือ ส่วนสินทรัพย์ และ ส่วนหนี้สินรวมกับส่วนของผู้ถือหุ้น และทั้ง 2 ฝั่นจะต้องเท่ากันด้วย ซึ่งในส่วนแรกของสินทรัพย์นั้นจะมีแยกไปอีกเป็น สินทรัพย์ระยะสั้น หรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินสด เงินฝาก เป็นต้น สินทรัพย์ระยะยาวหรือสภาพคล่องต่ำ เช่น เครื่องจักร อสังหาริมทรัพย์ ยานพาหนะ เป็นต้น
ในส่วนของหนี้สินนั้นจะแยกเป็นหนี้ระยะสั้น ก็คือต้องชำระภายใน 1 ปีเรียก “ระยะสั้น” และหนี้สินระยะยาวคือต้องชำระในระยะเวลาที่เกิน 1 ปีนั่นเอง หากเราไม่เข้าใจงบดุลเลยการมองภาพกว้างของธุรกิจผ่านสินทรัพย์ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเราจะมองไปถึงแหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทจากส่วนหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นได้ด้วย ไม่ว่าจะฝั่งสินทรัพย์หรือหนี้สินงบดุลจะต้องออกมาสมส่วนกัน หากไม่เท่ากันปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่องตามมาแน่นอน
ในการจัดทำงบดุลของบริษัทนั้นกฎหมายได้บังคับระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องทำขึ้นมาปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งปีการเงินของแต่ละบริษัทอาจไม่ตรงกับปีปฏิทินก็ได้ ที่จะต้องจัดทำเพราะจะทำให้หน่วยงานรัฐสามารถประเมินและจัดเก็บภาษีได้ ในกิจการบางอย่างอาจต้องทำงบดุลเพื่อแสดงฐานะทางการเงินทุกวันสิ้นเดือน ซึ่งก็อยู่ที่ความต้องการของผู้ใช้รายงานของกิจการนั้น ๆ เลย
งบดุลแสดงรายการทางการเงินของบริษัทนั้นจะคนละส่วนของฐานะทางการเงินของเจ้าของบริษัท ซึ่งเจ้าของอาจมีสินทรัพย์ส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็น เงินฝาก บ้าน รถ สินทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวกันกับของบริษัทเลย ฉะนั้นแล้วจะเอามาคิดและลงข้อมูลในรายงานเดียวกันไม่ได้เด็ดขาด
ประเภทของงบดุลมีอะไรบ้าง
1. งบดุลแบบบัญชี (Accounting Form)
สำหรับประเภทแรกนี้จะเป็นงบดุลที่ใช้ฟอร์มที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับตัวที (T) ในภาษาอังกฤษ จะมีการแบ่งเป็น 2 ด้าน ซ้าย – ขวา ที่ทางด้านซ้ายนั้นจะแสดงรายการสินทรัพย์และด้านขวาจะแสดงรายการหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ซึ่งขั้นตอนในการทำงบดุลนี้จะประกอบด้วย
- ขั้นที่ 1 ให้เขียนหัวงบดุล 3 บรรทัด ซึ่งประกอบไปด้วย
บรรทัดที่ 1 ระบุชื่อกิจการหรือบริษัท
บรรทัดที่ 2 เขียนคำว่า “งบดุล”
บรรทัดที่ 3 เขียนวัน เดือน ปี ที่จัดทำงบดุล
- ขั้นที่ 2 ทางซ้ายมือเขียนรายละเอียดของสินทรัพย์แสดงรายการต่าง ๆ ที่เป็นของกิจการ
- ขั้นที่ 3 ทางขวามือให้เขียนรายละเอียดของหนี้สินและส่วนของเจ้ากิจการที่มีอยู่
- ขั้นที่ 4 ให้รวมยอดทั้ง 2 ด้านให้เท่ากันและอยู่ในระดับเดียวกันด้วย
2. งบดุลแบบรายงาน (Report Form)
ซึ่งขั้นตอนในการทำงบดุลประเภทนี้จะเป็นแบบรายงาน ซึ่งขั้นตอนในการทำจะเป็นดังนี้
- ขั้นที่ 1 ให้เขียนหัวงบดุล 3 บรรทัด
บรรทัดที่ 1 เขียนชื่อกิจการ
บรรทัดที่ 2 เขียนคำว่า “งบดุล”
บรรทัดที่ 2 เขียน วัน เดือน ปี ที่จัดทำงบดุล
- ขั้นที่ 2 คือตอนบนให้เขียนคำว่า “สินทรัพย์” และเขียนรายละเอียดต่าง ๆ ของสินทรัพย์ที่กิจการมีอยู่แล้ว รวมยอดทั้งหมดของสินทรัพย์
- ขั้นที่ 3 เขียนคำว่า “หนี้สินและส่วนของเจ้าของ” ต่อจากสินทรัพย์ให้แสดงรายการที่เป็นหนี้สินก่อน จากนั้นค่อยตามด้วยรายการที่เป็นส่วนของเจ้าของ แล้วก็รวมยอดทั้งหมดของหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ซึ่งยอดจะต้องเท่ากันกับสินทรัพย์
โครงสร้างงบดุลมีอะไรบ้าง
- 1. สินทรัพย์ (Assets)
เป็นทรัพยากรที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกิจการ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอดีตซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต โดยจะแยกออกไปอีกเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
1.1 สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets)
ซึ่งจะหมายถึงเงินสด สินทรัพย์อย่างอื่นที่กิจการคาดว่าจะขายหรือใช้ไปในรอบระยะเวลาการดำเนินงานของกิจการ เวลาทำงบดุลก็ต้องเข้าใจในส่วนเหล่านี้ด้วย ซึ่งรายละเอียดของสินทรัพย์แบบหมุนเวียนนั้นก็จะมีเป็นดังนี้
- เงินสด / เงินฝากธนาคาร
- หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด
- ลูกหนี้
- สินค้าคงเหลือ
- สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น
1.2 สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Current Assets)
ซึ่งจะเป็นสินทรัพย์ที่หมุนเวียนไม่ได้ สภาพคล่องไม่สามารถมาจากสินทรัพย์ตัวนี้ได้เลยเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่จะต้องอาศัยระยะเวลา เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างนาน ซึ่งก็จะมีเป็น
- เงินลงทุนระยะยาว
- เงินลงทุนในบริษัทร่วม
- ที่ดิน/อาคาร/อุปกรณ์
- สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
2. หนี้สิน (Liabilities)
ในส่วนนี้ในหลายบริษัทก็มีแน่นอน หนี้สินไม่ระยะสั้นก็ยาว ซึ่งเป็นเหมือนภาระผูกพันเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์ ก็จะมีการแบ่งประเภทของหนี้สินในงบดุลออกเป็น 2 ประเภทดังนี้
2.1 หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)
จะเป็นหนี้สินที่ต้องชำระภายใน 1 ปี นับจากวันที่ในงบดุล
2.2 หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Liabilities)
เป็นหนี้สินที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้เกิน 1 ปี โดยนับจากวันที่ในงบดุล
3. ส่วนของผู้ถือหุ้น (Owner’s Equity)
สำหรับในข้อนี้จะหมายถึงเงินทุนที่เป็นส่วนของเจ้าของ โดยในกรณีที่มีการเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีผู้ถือหุ้น จะมีสิทธิในการเรียกร้องในทรัพย์สินภายหลังที่บริษัทจ่ายชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัท ซึ่งก็จะประกอบด้วย 2 รายการคือ ทุนที่เอามาลงเองหรือทุนเรือนหุ้นและกำไรสะสม
3.1 ทุนเรือนหุ้น (Share Capital)
เป็นการเอาเงินมาลงทุนของเจ้าของกิจการเอง ซึ่งก็จะเป็นส่วนที่นำไปใช้สำหรับดังนี้
3.1.1 ทุนจดทะเบียน
ก็จะเป็นทุนที่กิจการไปจดทะเบียนตามกฎหมาย จะต้องแสดงชนิดของหุ้น คือ หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ แสดงจำนวนหุ้นและมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน
3.1.2 ทุนที่ออกและชำระแล้ว
จะเป็นหุ้นและมูลค่าหุ้นที่นำออกจำหน่ายและเรียกให้ชำระมูลค่าหุ้นแล้ว และเป็นหุ้นจริงที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย
3.1.3 ส่วนเกินมูลค่าหุ้น
เป็นเงินค่าหุ้นส่วนที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ มาถึงตรงนี้เหมือนงบดุลจะค่อนข้างซับซ้อนลึกลงไปเรื่อย ๆ แต่ว่าก็ให้ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เพราะงบการเงินยังมีอะไรอีกเยอะมากให้ทุกคนได้เรียนรู้
3.2 กำไร (ขาดทุน) สะสม (Retained Earnings)
ในส่วนนี้หมายถึงกำไรสะสมส่วนที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เป็นกำไรที่บริษัทหรือกิจการสะสมไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการนั่นเอง ก็จะมีเป็นกำไรสะสมจัดสรรแล้วกับกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
3.1.1 กำไรสะสมจัดสรรแล้ว
หมายถึงกำไรที่สะสมกันเอาไว้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เอาไว้เพื่อจัดสรรเพื่อสำรองตามกฎหมาย เป็นต้น
3.1.2 กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร
หมายถึงกำไรสะสมคงเหลือหลังจากการจัดสรรแล้ว สามารถนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ หากกิจการมีผลขาดทุนเรื่อย ๆ จนค่าติดลบจะเป็นขาดทุนสะสม
บทสรุป
การทำงบการเงินเราจะไม่บอกว่ามันง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากคุณพยายามทำความเข้าใจ ถ้าเข้าใจงบดุลได้ดีแล้วจะทำให้เข้าใจและอ่านงบการเงินเป็น พร้อมทั้งทำให้มองเห็นได้เลยว่ากิจการนั้นจะโตต่อไปได้แบบสบาย ๆ หรือกำลังมีปัญหา
เพราะว่าฐานะทางการเงินของบริษัทนั้นบอกได้เลย หากคุณอยากจะบริหารกิจการไปได้ด้วยดี นอกจากการบริหารคน การพัฒนาองค์กรในด้านอื่น ๆ แล้วการรู้จักงบดุล งบการเงินต่าง ๆ ก็จะส่งผลต่อแผนพัฒนาได้เช่นกัน หากไม่ถนัดเรื่องตัวเลขและการทำงบก็หาผู้ที่มีความชำนาญด้านนี้เช่น สำนักงานบัญชีเข้ามาช่วยก็ได้ เพราะงบการเงินนั้นสำคัญอย่างมากทั้งทางด้านภาษีและการเติบโตขององค์กรเอง📌Station Accout – เรารับทำบัญชีมาตรฐานสูงสุด™